งานศิลปะแบบ Inception .....
วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง เขาได้ชื่อว่าเป็นบิดาของศิลปะคอนเซ็ปชวล (Conceptual art) จนกล่าวได้ว่าคนทำงานศิลปะร่วมสมัยทุกวันนี้แทบทุกคน ต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเขามาไม่มากก็น้อย ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) (1887 – 1968)
ในช่วงปี 1915 ดูชองป์คิดค้นศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า readymades ซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุและข้าวของธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ ด้วยการหยิบเอาของสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วๆ ไปอย่างเช่น พลั่วตักหิมะ กรงนก ที่เสียบขวดไวน์ เก้าอี้ ล้อจักรยาน เครื่องพิมพ์ดีด มาวางตั้งบนฐานให้กลายเป็นผลงานศิลปะโดยแทบจะไม่ได้ปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้แต่น้อย
ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่ีท้าทายสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง และท้าทายแนวคิดเดิมๆ ของศิลปะอย่างห้าวหาญด้วยความที่มันแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามันมีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะ สิ่งนั้นก็สามารถเป็นศิลปะได้ ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่าแค่ไหนก็ตาม ซึ่งนั่นหมายความว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นศิลปะไม่ใช่ตัวศิลปะวัตถุ หากแต่เป็นความคิดของศิลปินมากกว่า
ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาในช่วงนี้คือ Fountain (1917)
โถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมด๊าธรรมดาวางนอนหงายเค้เก้อยู่บนแท่นโชว์ ซึ่งเป็นผลงานที่ดูชองป์ส่งเข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) โดยใช้นามแฝง และเซ็นชื่อบนโถฉี่ใบดังกล่าวว่า R. Mutt
การที่ดูชองป์ส่งเจ้าโถฉี่ใบนี้ไปแสดงในนิทรรศการดังกล่าวซึ่งประกาศว่า “รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด” นั้นเป็นการยั่วล้อและท้าทายกรรมการของสมาคมอย่างเจ็บแสบ เหตุที่พวกเขาบอกว่า “รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด” นั่นก็หมายความว่าเจ้าโถฉี่ใบนี้ก็สามารถเข้าแสดงในนิทรรศการนี้ในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้ด้่วยเหมือนกัน น่าเสียดายว่ากรรมการคนอื่นไม่อินไปด้วย พวกเขาเลยปฏิเสธที่จะแสดงงานชิ้นนี้อย่างไร้เยื่อใย ทั้งๆ ที่ดูชองป์เองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยซ้ำไป! เป็นเหตุให้ดูชองป์ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการเพื่อแสดงการประท้วง
การณ์กลับกลายเป็นว่า ผลงานศิลปะโถฉี่ที่ถูกคัดทิ้งชิ้นนี้ ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากกว่าตัวนิทรรศการเสียอีก ด้วยความหมายแฝงของมันที่ตอกหน้าวงการศิลปะอย่างแรงด้วยการบอกว่า ศิลปินไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ และศิลปะไม่ใช่ของวิเศษล้ำค่าอะไร (ก็แค่ของโหลๆ ที่ใครก็ซื้อหาได้จากร้านขายสุขภัณฑ์) และเหนืออื่นใด ดูชองป์ไม่ได้หยิบฉวยอะไรก็ได้มาวางแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ด้วยการเลือกโถฉี่ใบนี้มา มันก็เหมือนเป็นการบอกเป็นนัยว่า ศิลปะก็เป็นแค่อะไรที่คุณจะเยี่ยวรดมันเท่านั้นแหละ! (แสบไหมล่ะ?) อันที่จริงแล้วเขาเพียงแค่ต้องการปฏิเสธความงามทางสายตา ทำลายคุณค่าและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของงานศิลปะ ให้มันกลายเป็นของสามัญธรรมดา ดูชองป์กระตุ้นเร้าให้คนเลิกเทิดทูนบูชาศิลปะ แต่หันมาครุ่นคิดหาความหมายของมันแทน
แต่เวลาผ่านมาเนิ่นนานหลังจากนั้นเกือบศตวรรษ คนในวงการศิลปะก็ตั้งข้อสังเกตและสงสัยกันว่า ผลงานที่คนในวงการศิลปะต่างยกย่องให้เป็นผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางศิลปะที่ถูกจดจำมากที่สุดในโลกชิ้นนี้เป็นของดูชองป์จริงๆ ล่ะหรือ?
นั่นก็เพราะว่า มีคนพบจดหมายที่ดูชองป์เขียนถึงซูซาน น้องสาวของเขา ในวันที่ 11 เมษายน ปี 1917 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “เพื่อนหญิงของฉันคนหนึ่ง ได้ใช้นามแฝงว่า Richard Mutt ส่งโถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวในฐานะงานประติมากรรมมาให้ฉัน ซึ่งฉันเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่เหมาะสม ก็เลยไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธมัน”
นั่นแปลว่า แทนที่ดูชองป์จะเป็นคนส่งผลงานนี้เข้าแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) อย่างที่เราท่านๆ รู้กัน กลับกลายเป็นว่า เขาอาจจะสวมรอยสมอ้างเอางานของศิลปินคนหนึ่งไปส่งแทน และศิลปินที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นเจ้าของผลงาน “โถฉี่ศิลปะ” ตัวจริงเสียงจริงนั้นมีชื่อว่า
บารอนเนส เอลซ่า ฟอน ฟรายแท็ก-ลอริงโฮเวน (Baroness Elsa von Freytag-Loringhoven)
ศิลปินหญิงที่เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะอาว็อง-การ์ด (Avant-garde ศิลปินหัวก้าวหน้าที่ทำงานศิลปะแนวทดลองที่ล้ำยุคสมัย) เธอเป็นศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์, จิตรกร, ประติมากร, กวี ผู้มาพร้อมกับงานศิลปะแปลกประหลาด กับบุคลิกและการแต่งกายพิลึกพิลั่นหลุดโลกเป็นอย่างมาก
นอกจากทำศิลปะแสดงสดแล้ว บารอนเนส เอลซ่ายังทำงานจิตรกรรมและประติมากรรมจากขยะและของเก็บตกเหลือใช้ที่เธอเก็บมาจากข้างถนน เธอยังเป็นที่รู้จักจากการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายจากสิ่งของเก็บตกเหลือใช้ มาสร้าง “ศิลปะปะติดที่มีชีวิต” ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิตประจำวัน
เชื่อกันว่า การที่ บารอนเนส เอลซ่า หยิบฉวยเอาข้าวของเก็บตกเหลือใช้มาสร้างเป็นงานศิลปะของเธอนั้น เธอทำก่อนที่ดูชองป์จะประกาศแนวคิด readymades ขึ้นมาเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน Enduring Ornament (1913) ประติมากรรมที่ทำจากห่วงเหล็กประดับสวนสนิมเขรอะที่เธอเก็บได้ระหว่างทาง
นอกจากจะนำของเก็บตกเหลือใช้มาทำเป็นงานศิลปะ เธอยังตั้งชื่อมันในเชิงจิตวิญญาณและศาสนาหรือมีนัยยะแฝงเร้น อาทิเช่น เศษไม้ธรรมดาๆ ที่เธอเอามาติดแท่นโชว์ ที่ตั้งชื่อว่า Cathedral (1918) (มหาวิหาร)
หรือท่อประปาดักกลิ่นเหล็กเก่ากรุที่ถูกติดบนกล่องไม้งานช่าง ที่มีชื่อว่า God (1917) (เดิมมันถูกบันทึกไว้ว่าเป็นผลงานของศิลปินอเมริกัน มอร์ตัน แชมเบิร์ก (Morton Livingston Schamberg) แต่ในภายหลังนักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่ามันเป็นผลงานของบารอนเนส เอลซ่า มากกว่า ส่วนแชมเบิร์กเป็นเพียงผู้ถ่ายภาพผลงานชิ้นนี้เท่านั้น)
ซึ่งลักษณะของการหยิบฉวยเอาของเก็บตกเหลือใช้มาทำให้เป็นศิลปะ การเล่นกับสุนทรียะของสุขภัณฑ์ที่เกี่ยวกับปฏิกูล (ท่อดักกลิ่น/โถฉี่) การตั้งชื่องานอย่างมีนัยยะแฝงเร้นและอารมณ์ขันพิลึกพิลั่นในผลงานของ บารอนเนส เอลซ่า นั้นมีความพ้องต้องกันกับผลงาน โถฉี่ศิลปะ หรือ Fountain อันลือลั่นของดูชองป์อย่างปฏิเสธไม่ได้
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็หมายความว่าดูชองป์หยิบฉวยเอาเครดิตจากงานของ บารอนเนส เอลซ่า มาเป็นของตัวเองหน้าตาเฉย ถึงแม้ว่าตัวดูชองป์เองจะขึ้นชื่อในการสร้างเรื่องตอแหลปั่นหัวคนอื่น (อย่างเช่นการแต่งตัวเป็นผู้หญิงและสร้างตัวตนปลอมขึ้นมาใหม่) และแม้ตัวเขาเองจะเคยกล่าวว่า เขาซื้อโถฉี่ที่ว่ามาจากบริษัทขายอุปกรณ์ก่อสร้าง JL Mott Iron Works ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของลายเซ็น R. Mutt บนโถ แต่ก็มีคนไปสืบค้นในภายหลังว่าบริษัทนี้ไม่ได้ผลิตโถฉี่รุ่นนี้ออกมาขายแต่อย่างใด (อ่านะ!)
อย่างไรก็ตาม คู่กรณีอย่างดูชองป์กับบารอนเนส เอลซ่า ที่รู้ความจริงเบื้องหลังเรื่องนี้ ต่างก็ตายจากโลกนี้ไปนานนมแล้ว คำตอบก็คงถูกพัดพาหายไปในสายลมแห่งอดีตกาล เหลือทิ้งไว้แต่เพียงปริศนาให้คนรุ่นหลังอย่างเราๆ ท่านๆ ได้แต่สงสัยกันต่อไปนั่นแหละครับ!
ภาพจาก https://bit.ly/2OqL7Fc, https://bit.ly/1NHPBSR
ข้อมูลจาก หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ตอน 00 ดูชองป์พ่อทุกสถาบัน, ตอน 32 ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มักลักขโมย, SALMONBOOKS
#WURKON #art #HBD #marcelduchamp #duchamp #readymades #fountain #urinal #material #elsavonfreytagloringhoven #everydayobject #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ
สามารถติดตามข่าวสารทุกวันได้ที่ : www.facebook.com/WURKON
สอบถามข้อมูลได้ที่ Tel : 02-005-3550 Fax : 02-005-2557
Official Line : @wurkon (มี @ ด้วย) / Twitter : @wurkon
Follow Instagram : @wurkon
*** สำหรับแฟนๆ และผู้ติดตามเพจ WURKON เพื่อไม่ให้พลาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้และความบันเทิงจากเพจของเราในทุกๆ วัน คุณสามารถตั้งค่าให้เห็นคอนเทนต์ของเราบน News Feed ได้อย่างง่ายๆ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เข้ามาที่เพจ WURKON
2. คลิกที่ปุ่ม Following (กำลังติดตาม) หรือ Liked (ถูกใจแล้ว) ด้านบนขวามือของเพจ WURKON
3. เลื่อนไปที่ See First (เห็นโพสต์ก่อน) แล้วคลิกเลือก
ง่ายๆ แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จ แล้วท่านจะไม่พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจจากเราอีกต่อไป
同時也有10000部Youtube影片,追蹤數超過2,910的網紅コバにゃんチャンネル,也在其Youtube影片中提到,...