“สังคม สังเคราะห์ สื่อ...... สื่อ สังเคราะห์ สังคม”
ตอนแรก ผมว่าจะไม่เขียนและไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่พิลึกพิลั่น (คำนี้กำลังฮิต LoL) ที่สร้างความสับสน สัปดน อลหม่าน ให้กับประเทศไทย หรือคนไทย (บางกลุ่ม) ตลอดช่วง 1 ปี กับอีกเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาอยู่แล้ว กะว่าจะขอเป็นแค่คนเฝ้าสังเกตุการณ์อยู่ห่างๆ เหมือนเดิม เพราะบทสรุปที่ใกล้เข้ามา ก็ไม่ได้ไกลที่จากผมและหลายๆ คนคาดเดาเท่าไหร่ เมื่อความจริงเริ่มกระจ่าง เมื่อแสงบางๆ สว่างมากขึ้น เมื่อคนหลายๆ คนเลิกหลับหูหลับตาหาประโยชน์ และเมื่อหลักฐานชิ้นสำคัญของตำรวจมาถึง ทุกอย่างก็จะชัดเจนในตัวมันเอง... และที่สำคัญ ผมก็โคตรจะงานยุ่งเลยด้วย ช่วงปีนี้!
แต่แล้วเมื่อเห็น การซัดกันไปมา โจมตีและโยนความผิดในเรื่องนี้ให้แก่กันและกัน ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ”สื่อ” พี่น้องที่ไม่ได้มาจากท้องเดียวกันแต่เคยทำงานหรืออยู่ในวงการร่วมกัน ก็ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เราจะปฎิเสธความจริงและความรับผิดชอบเรื่องนี้ง่ายๆอย่างงั้นหรือ “ว่าไม่เกี่ยวกับกู กูไม่เคยนำเสนอเรื่องราวนอกเหนือจากคดี ไม่เคยให้ความสำคัญกับมุมบันเทิงต่างๆของผู้ต้องสงสัย ไม่ได้สนใจและปล่อยผ่านไปมาตลอด กูไม่ได้ช่วยปั้นใครเป็นซุปเปอร์สตาร์ ซะหน่อย?”…. เพราะในมุมๆนึง ผมเองก็คือผู้สื่อสารคนนึงที่เคยทำงานในช่องสถานีโทรทัศน์หลักๆ มามากมายตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การปล่อยผ่านเรื่องบางเรื่อง ก็อาจเท่ากับการละทิ้งหน้าที่อันพึงกระทำ พึงรับผิดชอบต่อสังคมไม่ต่างกัน โดยปล่อยให้เรื่องราวมันมั่วๆซั่วๆ ไป สังคมก็สนุกกันแบบมั่วๆไป แบบนั้น
ผมยังจำว่าได้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล เคยมาเป็นวิทยากร อบรมให้พวกเราผู้ประกาศของสำนักข่าวไทย ตั้งแต่สมัยยังละอ่อน เป็นแค่ผู้ประกาศฝึกหัด โดยบอกว่า การเป็นนักข่าว เป็นผู้สื่อข่าว ต้องไม่รวย ต้องไม่ขายวิญญาญให้ขั้วตรงข้ามของความจริง ให้ชื่อเสียง หรือเงินทอง คนข่าวไม่ควรเป็นแม้กระทั่งพรีเซนเตอร์ (ตอนนั้นผมแอบยิ้มในใจ ว่า โคตรเท่ แต่ทำยากจังฮะจารย์ ^^”) แล้วท่านก็ยังบอกอีกว่า ให้ไปหาหนังสือเรื่อง The Elements of Journalism มาอ่าน โดยบอกว่านักข่าวทุกคนต้องอ่าน .....แต่ด้วยความสัตย์จริง 12 ปีผ่านมาผมก็ยังไม่เคยอ่านซักกะหน้า จนกระทั้งวันนี้.......
Journalism’s first obligation is to the truth
“หน้าที่แรก ที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักสื่อสารมวลชนคือพันธะผูกพันต่อความจริง”
แค่ข้อแรกก็จุกและ ไม่ต้องไปถึงเรื่องจรรยาบรรณของสื่อหรือ การบายอ่งบายแอส เลือกข้างอะไร เพราะถ้ามองให้ลึก เมื่อเราปล่อยผ่านก็เท่ากับละเลยความจริงที่ซ่อนอยู่ตรงหน้านั่นเอง
ในวันที่หลายคนหลงลืมจุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นทำงานในสายนี้ แล้วเลือกที่จะทำข่าว หรือสื่อสารเอากระแส ความดัง เงิน และ เรตติ้ง ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ยังคงมีมุมมองในมุมบวกให้เราได้ศึกษา วันนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า โลกที่เปลี่ยนไป กับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าล้ำสมัย รวดเร็วฉับไว และใครๆ ก็เป็นสื่อได้ เมื่อทุกคนมีบทบาท มีน้ำหนักมากขึ้นในการเป็นสื่อส่วนบุคคลที่เมื่อสื่อสารออกไป พูดหรือโพสต์ออกไปรวมกันมากๆก็กลายเป็นสื่อโซเชี่ย เอ้ย โซเชียล! ก็กลายเป็นพลังสื่อมวลชนแบบย่อมๆ (ที่ไม่ต้องผ่านการอบรม ผ่านการคัดกรอง หรือรับผิดชอบใดๆ) ดังนั้นกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ”สื่อสารมวลชนตัวจริง” ที่ร่ำเรียนมา ผ่านการฝึกฝนอบรมมา และทำงานมาด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น ยิ่งควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เลือกนำเสนอออกไปในแต่ละครั้งมากยิ่งขึ้น... การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ผิด แต่ถ้าจะผิดก็คงมาจากการเลือกนำเสนอผิดมุม ผิดวิธี ผิดเรื่องราว จนมองข้ามหรือหลงลืมข้อเท็จจริงไป
คดีของเด็กหญิงวัย 3 ขวบที่เสียชีวิตเมื่อปีก่อน จะเป็นบทเรียนราคาแพงที่แลกมาจากความอัปยศอีกครั้งของวงการสื่อ ซึ่งเราทุกคนควรรับผิดชอบร่วมกัน มากกว่าจะมัวแต่หาว่าต้นตอมาจากใคร โทษกันไปมาว่าใครควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะมันคงสายเกินไปแล้ว...
อยากเขียนมากกว่านี้ แต่ง่วงนอนแล้ว สุดท้ายนี้อยาก ขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากใจ ที่ฉลาด ไม่ไขว้เขว ทำคดีอย่างใจเย็นและตรงไปตรงมา (เมื่อดีก็ต้องชม) เพราะในวันข้างหน้า จะยังคงมีเรื่องอีกมากที่ประชาชนต้องพึ่งพาพวกท่าน และไม่ว่าในท้ายที่สุดคดีนี้จะจบลงยังไง สังคมไทยก็ต้องเติบโต และช่วยสังเคราะห์แสงให้กันและกัน เพราะในวันที่ทุกคนเป็นสื่อได้ สื่อย่อมต้องเป็นมากกว่าสื่อ และสื่อ ต้องกลับมาเป็นเส้นเสียงใหญ่ เป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับประชาชนอย่างแท้จริงอีกครั้ง...
และในขณะเดียวกัน
“Citizens, too, have rights and responsibilities when it comes to the news.”
ประชาชนคนไทยเอง ก็มีสิทธิ์และความรับผิดชอบต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยเช่นกัน
ตู พิภะ ต๊ะ พิภู เจ้าของเพจ People Persona ที่นานๆมาที แต่คิดถึงนะทุกคน
ราตรีสวัสดิ์ครับ ^^
#peoplepersona
#เขย่งก้าวกระโดด
Search