1
"คุณเชื่อเรื่อง work-life balance หรือเปล่า เพราะอะไร"
ผมได้รับคำถามนี้ตอนไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่บริษัทแห่งหนึ่ง คำตอบในวันนี้แตกต่างจากช่วงวัยก่อนหน้านี้ ประเด็นแรกผมแลกเปลี่ยนไปว่า ก่อนหน้าวิถีชีวิตสมัยใหม่ ผู้คนไม่ได้แบ่งแยก 'งาน' ออกจาก 'ชีวิต' แบบที่เราเป็นอยู่ งานกับชีวิตกลมกลืนกันกว่านี้ ไม่ได้ทำงานเพื่อรอวันหยุดหรือเวลาเลิกงานแบบที่เป็น เพื่อนร่วมงานก็เป็นเพื่อนร่วมชีวิตไปพร้อมกัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้งานกับชีวิตเริ่มแยกห่างออกจากกัน ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นคนละเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ
ความน่าสนใจคือ กับคนที่เป็นฟรีแลนซ์ก็อาจมีความรู้สึกแยกงานออกจากชีวิตไม่ต่างจากงานประจำ เพียงแค่เขาเลือกเวลาทำงานของตัวเอง และก็น่าคิดว่า พนักงานที่ work from home จะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร
เป็นไปได้ไหมที่เราจะสอดเสริม 'ชีวิต' แทรกเข้าไปในเวลางาน เช่น มีช่วงผ่อนพักเล็กๆ คั่นเวลางาน ฟังเพลงสัก 10 นาที หลังทำงานไปแล้วสามชั่วโมง ลุกขึ้นมาวิดพื้น ซิตอัพ ถ้าอยู่บ้าน (หากสะดวกทำที่ทำงานได้ก็สนุกดี) ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคุยสัพเพเหระ ไม่ใช่เจอหน้าก็ใส่กันแต่งาน หรือโทรหาคนในครอบครัวระหว่างวันบ้าง เป็นการจัดสมดุลเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่แยกชีวิตขาดจากงานขนาดนั้นเพื่อรอกลับไปหา 'ชีวิต' ตอนหกโมงเย็น สองทุ่ม หรือเฉพาะเสาร์-อาทิตย์
...
2
เพิ่งได้อ่านข้อเขียนจากพี่วู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย ที่ตอบคำถาม "อะไรถ้าไม่ได้ทำแล้วจะเสียใจ" ว่า "Why not the best? ทำไมไม่ทำให้ดีที่สุด แล้วจะได้ไม่เสียใจ" คำตอบสั้นๆ นี้ชวนคิดอย่างยิ่ง
ทุกวันนี้ผมเชื่อเช่นนั้น ไหนๆ ก็ทำแล้ว ใช้เวลาและพลังงานไปแล้ว ควรทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถ ได้ทำแบบนั้นก็จะไม่มีอะไรคาใจภายหลัง
แต่ผมมีเรื่องเสริมเติมเล็กน้อย เพราะเชื่อว่าคนเราไม่สามารถ 'สุด' กับทุกเรื่องได้ สำหรับตัวเอง ผมเชื่อว่าในแต่ละช่วงเวลาเราเลือก 'สุด' ได้เพียงไม่กี่อย่าง ถ้าเป็นงานก็แค่ไม่กี่ชิ้น ถ้ากดสุดหมด สิ่งที่แหว่งจะกลายเป็นสุขภาพ ความสัมพันธ์ และความสงบในใจที่จะแหว่งวิ่นไป
การจัดลำดับความสำคัญจึงสำคัญ ต้องเลือกลงแรงไปกับงานที่อยากใส่พลังเบอร์สุดลงไป โดยไม่คาดหวังว่าจะได้ 10 คะแนนเต็มทุกชิ้น เดี๋ยวหัวระเบิด คาดหวังแบบที่เป็นไปได้จริง
'บาลานซ์' จึงไม่ใช่สมการที่เฉลี่ยพลังให้งานทุกชิ้นเท่าๆ กัน สัดส่วนอาจจะเป็นงานสำคัญ 8 คะแนน ไม่สำคัญ 2 คะแนน (ในวงเล็บว่า 2 คะแนนนั้นคือรักษามาตรฐาน ส่วน 8 นั้นคือรีดเค้นศักยภาพที่ไม่เคยใช้ออกมา) เพื่อไม่เสียใจที่ไม่ทำงานสำคัญให้สุดฝีมือ
...
3
เรื่องของวัยและช่วงเวลา,
เราสามารถมอง work-life balance ในสเกลที่ใหญ่กว่าหนึ่งวัน มิใช่ว่าในหนึ่งวันจัดสรรเวลาให้สมดุลระหว่างงาน ความสัมพันธ์ พักผ่อน หา input แล้วคงสมการนั้นไว้ตลอด แต่อาจขยายสเกลไปมากกว่านั้น
เช่น ในช่วงวัยเริ่มทำงานหรือเริ่มตั้งไข่ธุรกิจใหม่อาจเอียงมาด้านการทำงานมากหน่อยเพราะต้องเรียนรู้เยอะ อาจมีเวลาให้ครอบครัวน้อยสักนิด (แต่ไม่ให้แห้งแล้ง) พักผ่อนน้อยหน่อยได้เพราะยังหนุ่มยังสาว (แต่อย่าถึงเสียสุขภาพ) แล้วพออายุ 30-40 ปีก็อาจจะเอียงเทมาด้านความสัมพันธ์มากขึ้น ให้เวลาลูก-สามี-ภรรยา-พ่อแม่มากขึ้น เพราะลูกยังเล็ก เพิ่งเริ่มสร้างครอบครัว พ่อแม่เริ่มแก่ ช่วงเวลาของแต่ละคนต่างกันไป ไม่มีสูตรสำเร็จ ประเด็นสำคัญคือ ชีวิตสมดุลนั้นไม่ได้หมายความว่าจะสมดุลทุกวัน หากคือมองในระยะยาวของชีวิตมันมีพลวัตรที่เอียงไปมาแต่ประคองตัวอยู่ใน 'ระยะสมดุล'
'ระยะสมดุล' ต่างจาก 'จุดสมดุล' ตรงที่จุดสมดุลมีเพียงจุดเดียว ไม่ขยับ ไม่ยืดหยุ่น ไม่มีการเคลื่อนไหว ลองจินตนาการไม้กระดานที่วางบนถังเหล็กแบบที่นักกายกรรมชอบขึ้นไปเดินทรงตัวบนนั้น มันจะเอียงซ้ายเอียงขวาสลับกันไปมา หน้าที่เขาคือประคองตัวเองซ้ายๆ ขวาๆ ให้ไม้เลื่อนไปมาได้ 'ระยะ' หนึ่งที่ไม่ล้มคว่ำหกคะเมน การประคองตัวแบบนี้สนุกกว่า ลื่นไหลกว่า และมีชีวิตชีวากว่าการยืนนิ่งที่จุดสมดุล แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันเป็นจริงมากกว่า เพราะชีวิตคือการจัดสมดุลตลอดเวลา มิใช่การหาจุดสมดุลให้เจอแล้วปักหลักตรงนั้น
...
4
มองเช่นนี้แล้ว 'สมดุล' จึงมิใช่จุดตายตัวที่เราต้องตามหา หากมันคือการเล่นอยู่บนไม้กระดานที่วางอยู่บนถังเหล็กที่กลิ้งไปมาตลอดชีวิต ความสนุกอยู่ตรงที่เราต้องทรงตัวให้ได้ บางเวลาเอียงไปด้านหนึ่งบ้างก็ไม่เป็นไร แค่อย่าเอียงจนคว่ำหน้าคะมำ
บางวัยจำเป็นต้องเอียงให้เรื่องหนึ่งมากกว่าอีกเรื่องหนึ่ง บางช่วงเวลาจำเป็นต้องเอียงให้งานบางงานมากกว่าอีกงานหนึ่ง บางวันจำเป็นต้องเอียงให้สิ่งสำคัญหรือเร่งด่วนบ้างเป็นธรรมดา เช่นนี้ สำหรับผมไม่เรียก 'เสียสมดุล'
แต่นอกจากปรับตัวแล้วเราต้องปรับใจด้วย ถ้าคาดหวังให้ทุกอย่างเพอร์เฟ็กต์ คาดหวังว่าจะให้น้ำหนักกับทุกองค์ประกอบในชีวิตเท่าๆ กัน แบบนั้นจะลำบากใจ หนักใจ เพราะเราคาดหวังไม่สมจริง
เคล็ดลับของการเล่นกระดานทรงตัวอยู่ตรงที่ ต้องเผื่อระยะให้ตัวเราเอียงไปมาได้ 'ระยะหนึ่ง' หากเล่นมานานพอเราจะเริ่มรู้ระยะของตัวเอง ว่าไม่เอียงมากไปกว่านี้ ไม่งั้นจะเทจนล้ม ไม่มีใครรู้ดีกว่าเรา และเรามักเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป กระทั่งเจอ 'ระยะสมดุล'
เอียงได้ เพราะชีวิตคือการเลี้ยงสมดุล และนั่นคือความสนุก เอียงมากไปก็เอียงกลับมา เพียงไม่คาดหวังว่าจะอยู่ที่ 'จุดสมดุล' ไปตลอดกาล
เอียงไปยังสิ่งสำคัญในช่วงเวลานั้น, เอียงกลับมาเมื่ออีกสิ่งหนึ่งสำคัญกว่า หรือเริ่มส่งสัญญาณว่าควรให้ความสำคัญ
work-life balance จึงเป็นการเล่นกระดานทรงตัว ซึ่งจะว่าไป work กับ life นั้นไม่เคยแยกขาดจากกัน การงานคือส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ เราเรียนรู้ เติบโต เข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น เข้าใจตัวเอง ผ่านการงานที่ทำ
กระดานทรงตัวจึงเป็น 'งาน' แห่งชีวิต ที่เราต้องหัดไปตลอดชีวิต
และเราจะรักชีวิตมิใช่ตอนที่เจอจุดสมดุล แต่เราจะรักชีวิตก็ต่อเมื่อเข้าใจว่า ชีวิตจะเอียงไปบ้างในบางขณะ แต่ภารกิจของเราคือประคองตัวไว้ไม่ให้ร่วงหล่นลงมา
การหาสมดุลมิใช่เรื่องเคร่งเครียด หากคือความสนุก
ชีวิตคือการเอียงไปเอียงมา, เคลื่อนไหว, เหมือนลมหายใจเข้า-ออก
...
🌞 *วันนี้ขอมอบข้อเขียนนี้แทนรายการ Have a nice day! ที่ต้องลาหยุด 1 วันนะครับ แล้วพบกันพรุ่งนี้ 7 โมงเช้าเช่นเคย Have a nice day! ครับ 😊🤟
บาลานซ์ สมดุล 在 Work-Life Balance ทำได้จริงไหมและอย่างไรถึงจะสมดุล - YouTube 的推薦與評價
... มันทำได้จริงไหม จุดที่ สมดุล คืออะไร และทำอย่างไรถ้าถึงวันที่ต้องเลือกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว Time index 00:51 Work-LIfe Balance ... ... <看更多>
บาลานซ์ สมดุล 在 อาจารย์อดัม - balance (n.) แบเหลิ่นสฺ ความสมดุล I need to... 的推薦與評價
balance (n.) แบเหลิ่นสฺ ความสมดุล I need to find balance in my life. ฉันต้องหาความสมดุลในชีวิต. ... <看更多>