เกมเมอร์สายหนังต้องรู้จักเขาดี ชีวิตพี่แกมันส์ดีจัง
อูเว โบลล์ นักทำหนังผู้ต่อยปากนักวิจารณ์
.
เมื่อผลงานที่ฟูมฟักมาชนิดเลือดตาแทบกระเด็น ดันมาโดนใครสักกลุ่มที่ไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน วางมาดว่ามีภูมิรู้อย่างดิบดี ใช้ปากและแป้นพิมพ์ถล่มหนังของเขาเสียเละเทะผ่านคำวิจารณ์... เป็นใครก็ต้องสะอึก
.
ในวันที่ 23 กันยายน 2006 อูเว โบลล์ (Uwe Boll) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมัน มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ด้านมืดของจิตใจนักทำหนังหลายคนเรียกร้อง
.
เขากำลังจะต่อยปากคนเหล่านั้น
.
วาระแห่งการเอาคืนอย่างสาสมมาถึงแล้ว บนเวทีที่ถูกจัดเตรียมอย่างดี อูเวในชุดนักมวยที่เผยให้เห็นร่างกายสุดฟิต ย่างเท้าอย่างรวดเร็วด้วยความเกรี้ยวกราด ก่อนจะรัวหมัดใส่นักวิจารณ์หนังที่สลับขึ้นเวทีมาทีละคน เบ็ดเสร็จในคืนนั้นเขาจัดไป 4 คนรวด ทั้งหมดล้วนโดนถล่มจนพังพาบตั้งแต่ยกแรก บางคนถึงกับแทบคลานลงจากเวทีแล้วอ้วกก็พุ่งออกมา
.
วงการภาพยนตร์อาจจะมีวิวาทะระหว่างนักสร้างหนังกับนักวิจารณ์อยู่เป็นระยะ ด่ากันผ่านสื่อบ้าง เขม่นกันในระยะประชิดบ้าง แต่จะมีสักกี่หนที่จะได้ “แลกหมัด” กันให้หายคาใจไปข้าง อูเวอาจจะเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ต่อยหน้านักวิจารณ์อย่างเป็นทางการ
.
และเมื่อสิ้นสุดอีเวนท์นี้ เขากล่าวอย่างผ่อนคลายว่า เจ้าพวกนั้นได้รับบทเรียนอย่างสาสม มันเป็นการปลดปล่อยในสิ่งที่เขารู้สึกว่า โดนอีกฝ่ายกระทำมาอย่างยาวนาน
.
แต่เรื่องทั้งหมดซับซ้อนกว่านั้น เรื่องนี้เขาอาจจะไม่ใช่ “เหยื่อผู้ได้ล้างแค้น” เสียทีเดียว
.
ตัวพ่อแห่งวงการหนังห่วย
.
หากย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก นักทำหนังที่ขึ้นชื่อว่า “ห่วยที่สุดตลอดกาล” คือ เอ็ด วูด (Ed Wood) ผลงานระดับเลื่องชื่อคือ Plan 9 from Outer Space (1959) ทำให้คนดูถึงกับ “ลืมไม่ลง” ในความมั่วซั่วเละเทะ และดำรงตำแหน่งหนังเลวร้ายที่สุดเรื่องหนึ่งที่มนุษยชาติเคยสร้างมา
.
แต่แม้ปู่เอ็ดจะโดนครหาขนาดนั้น หลายคนต่างก็ยังยกย่องว่า ผลงานที่ออกมาย่ำแย่ก็เพราะความจำกัดจำเขี่ยของทุกอย่าง เงินทุนเอย งบประมาณเอย ตลอดจนถึงทักษะการทำหนัง แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่าแท้จริงเขารักใคร่หลงใหลในภาพยนตร์เพียงใด และได้แต่หวังว่าจะถ่ายทอดผลงานให้คนดูได้ชื่นชอบบ้างสักวัน
.
ช่วงต้นยุค 2000s การปรากฏตัวของ อูเว โบลล์ หนุ่มใหญ่ชาวเยอรมัน ทำให้วงการหนังร่ำลือกันว่า “พวกเราได้ เอ็ด วูด คนใหม่แล้ว” เพราะผลงานของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังที่สร้างจากวิดีโอเกมอย่าง House of the Dead (2003), Alone in the Dark (2005) และ BloodRayne (2005) ทำแฮตทริคเป็นผลงานที่เข้าชิงรางวัล “หนังแย่แห่งปี” ติดต่อกัน (เรื่องแรกจาก Chainsaw Award ส่วนสองเรื่องหลังจาก Razzie Award) และได้รับสกอร์จากเว็บไซต์ Metacritics ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 15, 9 และ 18 คะแนน ตามลำดับ เรียกว่าหากตัดเป็นเกรด ก็คงเป็นการติด F สามเทอมซ้อน
.
ตัวอย่างคำวิจารณ์ที่มีต่อหนังเหล่านี้ เช่น “โง่เง่าไปทุกอย่าง ทำไมไม่ส่งลงดีวีดีไปเลย มาฉายในโรงหนังทำไม”, “นี่คือหนังแอ็คชั่นสยองขวัญที่โง่ที่สุดและไม่มีอะไรดีสักอย่าง”, “การแสดงน่าหัวเราะเยาะมาก”, “ให้คะแนนต่ำกว่าศูนย์ได้ไหม” และ “นี่คือหนึ่งในหนังที่ห่วยที่สุดในยุคนี้”
.
ส่วนตัวเขา ก็รับคำก่นด่าแบบตรง ๆ มากมาย เช่น “อูเว โบลล์ นี่ฝีมือเชื่อใจได้จริง ๆ ในเรื่องการทำหนังให้ออกมาย่ำแย่”, “ถึงเวลาที่อูเวจะเลิกทำหนังได้แล้ว”, “คือไม่ได้มองข้ามความพยายามของเขานะ แต่เศษฟิล์มที่ติดอยู่ซอกฟันของคนที่เมามา 3 วัน ยังมีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์กว่านี้” ฯลฯ
.
คำเชือดเฉือนเหล่านี้ทำให้ลูกโป่งแห่งความอดทนของอูเวเริ่มพองขึ้นเรื่อย ๆ เขากลายเป็นไอคอนของนักทำหนังห่วยแตกแห่งวงการไปแล้ว ที่สำคัญ พฤติกรรมบางอย่างในการทำหนังก็สร้างความสงสัยในหมู่คนดูว่า เจ้าตัวอาจไม่ได้รักใคร่ในภาพยนตร์แบบที่ เอ็ด วูด รัก
.
ด็อกเตอร์ ผู้กำกับ และนักมวย
.
อูเวเติบโตมาด้วยความชื่นชอบในภาพยนตร์ ดูหนังจำนวนมากตั้งแต่เด็ก หากไปดูในห้องของเขาจะพบว่าเก็บของสะสมเกี่ยวกับหนังเต็มไปหมด โดยเฉพาะโปสเตอร์และหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการสร้างภาพยนตร์ สำหรับงานชิ้นโปรดที่ทำให้ตัดสินใจจะเป็นนักทำหนัง คือ Mutiny on the Bounty (1962) ผลงานผจญภัยสุดยิ่งใหญ่ที่เข้าชิงออสการ์ถึง 7 สาขา
.
จากนั้นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขากลายเป็นนักศึกษาด้านวรรณกรรม จบมหาวิทยาลัยโคโลญ และศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไซเก้น ที่สำคัญ ดีกรีการศึกษาขั้นสูงสุดคือ จบปริญญาเอก
.
ใช่แล้ว ในวงการวิชาการ เขาคือ ด็อกเตอร์ อูเว โบลล์!
.
การศึกษากับผลงานไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเสมอไป หลังจากทำแฮตทริคเข้าชิงหนังแย่ 3 เรื่องซ้อน โบลล์คงเริ่มรู้ตัวแล้วว่ากลายเป็นไอคอนของอะไรบางอย่างที่ไม่น่าสบอารมณ์ เขาเริ่มหัวเสียกับบรรดานักวิจารณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ แทบไม่มีใครยืนอยู่ฝั่งเดียวกับเขา และส่วนใหญ่จะเน้นการผรุสวาท ลบหลู่ดูหมิ่น แถมบางคนยังเน้นด่าตามกระแสโดยที่เจ้าตัวยังไม่เคยได้ดูหนังของเขาสักเรื่อง
.
พออดรนทนไม่ไหว โบลล์จึงประกาศกร้าวว่าใครก็ตามที่เคย “เผยแพร่ผลงานวิจารณ์ที่ด่าเขาอย่างน้อย 2 ชิ้น” จะขอเรียนเชิญให้มา “ตั๊นหน้ากันบนเวทีมวย” ให้เป็นเรื่องเป็นราวซะ
.
การจัดแมทช์ “ผู้กำกับ vs. นักวิจารณ์” เกิดขึ้นในแวนคูเวอร์ แคนาดา และตัวของโบลล์ห้าวหาญถึงขนาดว่า จะให้นักวิจารณ์ (ออนไลน์) 4 คน ขึ้นชกกับเขาในคืนเดียวกัน เรียกว่าเสร็จธุระจากคนแรก คนที่ 2 คนที่ 3 และคนที่ 4 ก็เรียงหน้ามาเข้าคิวรอได้เลย (ที่จริง ยังมีนักวิจารณ์คนที่ 5 ด้วย แต่จะจัดการชกในประเทศสเปนหลังจากนั้นไม่กี่วัน) โดยเจ้าตัวขู่คำรามผ่านสื่อว่า แต่ละคนจะโดนอัดในระดับเลือดพุ่งอุจจาระราดแน่นอน และหวังว่าพวกนักวิจารณ์เหล่านั้นจะสมองกระเทือน จนกระทั่งไม่สามารถเขียนด่าอะไรเขาได้อีก
.
คนที่รับคำท้าจะมีเวลาเตรียมตัว 3 เดือนก่อนการประจันหน้าจะเริ่มต้น แต่สิ่งที่ถูกเปิดเผยในภายหลังก็คือ นักวิจารณ์แต่ละคนที่ตกปากรับคำมา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งกลับคิดว่า แมทช์นี้เป็นเพียง “โชว์สตันท์” เสมือนเป็นอีเวนท์เอาไว้เพื่อสร้างกระแสให้คนสนใจเฉย ๆ บางคนเพิ่งจะมารู้ช่วงงานใกล้เริ่ม ว่าโบลล์นั้นเคยเป็นนักมวยสมัครเล่นมาก่อน และฟิตซ้อมเพื่องานนี้แบบ “เอาตาย”
.
เบื้องหลังของงานนี้ที่หลายคนเพิ่งจะมารู้ก็คือ ทุกรายที่ถูกคัดเลือกให้มาร่วมชกด้วยนั้น แม้จะอายุน้อยกว่านับสิบปี แต่ขนาดของร่างกาย ความฟิตและการเปรียบมวย ถือว่าเป็นรองโบลล์ชนิดเทียบกันไม่ติด ส่วนคนที่เสนอตัวจะมาร่วมวงด้วย แต่ดูแล้วมีทักษะทางมวย พร้อมร่างกายแข็งแกร่งบึกบึน ก็จะถูกเมินเฉยจากทีมงาน
.
ถึงจะถูกประเมินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าทำหนังไม่ได้เรื่องได้ราวนัก แต่เรื่องเจ้าเล่ห์เพทุบายนั้น โบลล์ไม่เป็นสองรองใคร ไม่เฉพาะเรื่องแมทช์ชกมวย แต่ยังย้อนกลับไปอธิบายบางสิ่งในการทำหนังได้อีกด้วย
.
ทำหนังเจ๊ง แต่ได้กำไร
.
หนึ่งในความลับที่ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา ว่าทำไมผู้กำกับที่สร้างหนังแล้วถูกประณามรอบทิศทาง มิหนำซ้ำยังประสบความล้มเหลวในตารางบ็อกซ์ออฟฟิศเช่นเขา ถึงยังได้การสนับสนุนให้ทำหนังออกมาเรื่อย ๆ
.
คำตอบก็คือ อูเว โบลล์ ใช้ช่องโหว่ของระบบภาษีเยอรมัน (Loophole in German Tax Law) ในการดึงดูดเงินทุนสนับสนุน
.
เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราภาษีของเยอรมนีนั้นโหดมาก เงินทองที่หามาได้ในแต่ละปีจะถูกจัดเก็บเป็นภาษีชนิดมโหฬาร ดังนั้น หากใครสักคนหาวิธีการลดหย่อนภาษีได้ทีละเยอะ ๆ คนนั้นจะถือว่ามีกำไรจากระบบภาษี
.
สิ่งที่โบลล์ทำก็คือ ไปหาคนรวย ๆ มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะตามระบบภาษีเยอรมันช่วงนั้น รายได้ที่นำไปใช้ในการลงทุนสร้างหนังจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเลย และภาษีจะเริ่มนับหนึ่งต่อเมื่อหนังเรื่องนั้น ๆ ได้ผลกำไรกลับมา
.
นั่นแปลว่า หากมีนักธุรกิจที่รายรับอู้ฟู่ แต่ไม่อยากจ่ายภาษีเยอะ ก็เอาเงินส่วนนั้นมาลงทุนในหนังของบริษัทเยอรมัน (ที่อูเวตั้งขึ้นมา) และหากหนังเจ๊งก็ยิ่งดี (แต่ขอต้นทุนกลับมาบ้าง) เพราะไม่ต้องเอากำไรมาคำนวณภาษีอีก
.
ที่สำคัญ บางเจ้าแอบไปยืมเงินมาลงทุนในหนังเสียด้วยซ้ำ เพื่อจะได้แต่งบัญชีให้กลายเป็นส่วนลดหย่อนภาษีจากรายได้ส่วนอื่น ๆ เช่นนี้เอง หนังจากวิดีโอเกมจำนวนมากที่อูเวสร้างโดยใช้ทุนเยอรมัน จึงถูกส่งออกไปฉายในฮอลลีวูดชนิดไม่หยุดหย่อน ต่อให้มันจะเจ๊งแล้วเจ๊งอีกก็ตาม
.
เมื่อทำบ่อย ๆ เข้า เล่ห์กลของอูเวก็ถูกจับได้ และเยอรมนีก็เปลี่ยนแปลงระบบภาษีในส่วนดังกล่าว จนตัวเขาไม่สามารถใช้ประโยชน์จากช่องว่างภาษีมาดึงดูดเงินทุนสนับสนุนได้อีก
.
อย่างไรก็ดี ผลร้ายจากการทำหนังเพื่อหากินจากส่วนต่างภาษี และอยากจะให้มันเจ๊ง ๆ ไปซะ ทำให้คุณภาพของหนังออกมาเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นความเคยชินที่จะทำภาพยนตร์ให้ออกมาย่ำแย่ไปเสียแล้ว ภายหลังจัดไฟท์กับนักวิจารณ์และเดินหน้าลุยสร้างหนังอีกสักพัก อูเว โบลล์ ก็ได้รับรางวัล “ผู้กำกับสุดห่วย” (Worst Director) บนเวทีออสการ์แห่งหนังแย่ Razzie Award ในปี 2009 จากการเข้าชิงควบในภาพยนตร์ 3 เรื่อง ได้แก่ Tunnel Rats (2008), In the Name of the King: A Dungeon Siege Tale (2007) และ Postal (2007)
.
และในวาระเดียวกันนี้เอง อูเว โบลล์ ยังได้รับรางวัล “เกียรติคุณความล้มเหลวแห่งชีวิต” (Worst Career Achievement Award) อันถือว่าดำรงตำแหน่ง “นักทำหนังแย่ที่สุด” ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน
.
ครั้งแรกของคำวิจารณ์ที่ดี
.
เมื่อทำหนังแล้วไม่สามารถทำเงินทำทองได้อย่างแต่ก่อน รวมถึงประสบความล้มเหลวด้านคำวิจารณ์ชนิดลุ้นไม่ขึ้น ในปี 2016 อูเว โบลล์ ได้ประกาศว่าจะยุติการสร้างภาพยนตร์ มันกลายเป็นข่าวที่กลุ่มคนรักหนังรู้สึกโล่งอก แต่อีกทางหนึ่งคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดถึงบรรยากาศถล่มแหลกจากนักวิจารณ์ สำบัดสำนวนมากมายที่ถูกละเลงผ่านสื่อ คำเปรียบเปรยสุดแสบสันต์ และวิวาทะอันสุดระทึก ที่จะไม่มีอีกแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม การปิดฉากชีวิตการทำหนังของอูเวโดยไม่ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีแม้แต่เรื่องเดียว ไม่ได้หมายความว่าเขาจะหายตัวไปจากโลกใบนี้ หนุ่มใหญ่ผู้นี้ไม่ได้หมดอาลัยตายอยากหรือยกธงขาวยอมแพ้แต่อย่างใด หากแต่เบนเข็มไปทำอย่างอื่นที่ดูท่าจะรุ่งมากกว่า นั่นคือ เปิดภัตตาคาร
.
นอกเหนือจากหนัง เขามีความรักในการหาร้านอาหารดี ๆ เสมอ และเมื่อถึงวันอัสดงจากธุรกิจภาพยนตร์ อูเวเลือกที่จะเป็นเจ้าของร้านอาหาร โดยสั่งสมประสบการณ์จากการตระเวนชิมภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์มากกว่า 120 แห่งในรอบ 10 ปี
.
อูเวเอาจริงเอาจังขนาดจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทำภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์มาเป็นผู้บริหารงาน โดยตั้งชื่อร้านว่า Bauhaus ที่เน้นอาหารเยอรมัน ประเดิมสาขาแรกที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในปี 2015
.
เมื่อมีแววว่าจะรุ่ง เขาและภรรยาจึงร่วมกันวางแผนขยายสาขาออกไป
.
อาหารในร้านเป็นอย่างไรน่ะหรือ? Bauhaus ได้รับคำวิจารณ์ในระดับยอดเยี่ยม ทั้งจากนักชิมท้องถิ่นและนานาชาติ ในปี 2016 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นภัตตาคารอันดับ 37 จากลิสต์ภัตตาคารชั้นเลิศ 100 แห่งในแคนาดา และเมื่อปี 2017 ยังเดินหน้าไปติดลิสต์ 1 ใน 50 ของ The Diners Club ที่จัดอันดับทั่วโลก ซึ่งในแคนาดามีติดอันดับแค่ 3 แห่งเท่านั้น
.
นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้อูเว โบลล์ ได้รับคำวิจารณ์ที่ดี น่าจะทำให้ปลดแอกอะไรบางอย่างจากชีวิตไปได้ และหวังว่าคงไม่ต้องไปท้าต่อยกับใครอีก
.
เรื่องโดย: วิโรจน์ สุทธิสีมา
.
ข้อมูลประกอบการเขียน
http://www.factfiend.com/that-time-uwe-boll-beat-up-a-bunc…/
https://www.geeksofdoom.com/2014/…/22/dvd-review-raging-boll
https://www.cinemablend.com/…/Uwe-Boll-Money-For-Nothing-20…
https://www.imdb.com/name/nm0093051/?ref_=tt_ov_dr
https://en.wikipedia.org/wiki/Uwe_Boll
https://www.theworlds50best.com/dis…/USA-Mid-and-Canada.html
https://www.cbc.ca/…/bri…/bauhaus-uwe-boll-50-best-1.4068136
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Raging Boll (2014)
.
อ่านเรื่องราว อูเว โบลล์ เวอร์ชันเว็บไซต์ได้ที่ https://thepeople.co/uwe-boll-fights-critics/
#ThePeople #Culture #UweBoll
Search
bauhaus wiki 在 【專家對談】BAUHAUS包浩斯一百年!那些和包浩 ... - YouTube 的推薦與評價
... <看更多>